พิธีเปิดโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการ
วันที่ 17 สิงหาคม 2566 โรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) จัดพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยมี Dr. Qi Bin ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) กล่าวถึงโรงเรียนนานาชาติจีน ว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติสมัยใหม่แห่งแรกที่มีคุณลักษณะแบบจีนในประเทศไทยซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน
โรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) เปิดสอนนักเรียนในระดับชั้นประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย โดยใช้หลักสูตรการเรียนจากประเทศจีนโดยการสอนจะใช้ภาษาจีนเป็นหลัก เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศจีน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และด้านวิชาการ มีการเสริมภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ทำให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางไปเรียนถึงต่างประเทศ และได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และภาษาที่ไม่แตกต่างกันกับการเรียนในประเทศจีน

โรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) นี้ยังมี “ศูนย์ประสบการณ์วัฒนธรรมฉีหลู่” แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมระบบการเรียนรู้ภาษาจีนที่ทันสมัยที่สุด และหลักสูตรการเรียนรู้ที่น่าสนใจต่างๆ มีคุณครูที่มีความเชี่ยวชาญจากประเทศจีน ในด้านการจัดการเรียนการสอน และมีประสบการณ์การสอนมากมายอยู่จำนวนมาก
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก ได้กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันเปิดโรงเรียน กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ว่ามีความแน่นแฟ้น และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมากยาวนาน ในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ได้มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) ที่เป็นหลักสูตรภาษาจีนเป็นมาตรฐานในการสอน นับเป็นความพยายามครั้งใหม่ของการศึกษาและการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ไม่เพียงแต่นักเรียนจะได้รับการศึกษาภาษาจีนคุณภาพสูงเท่านั้น แต่ยังมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาในอนาคต หวังว่าโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) จะเป็นเวทีการสอนหลักสูตรภาษาจีนที่ดีขึ้นสำหรับสังคมไทย

ในพิธีเปิดครั้งนี้ Mr.Qi Xiaoyun และ Mr. Chen Yulong ได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) ต่อไป
และในวันเดียวกันทางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรม “เส้นทางสายไหมเยาวชนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทย” ทั้งนี้ได้มีการเรียนเชิญคณะครู และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติจีน (ประเทศไทย) รวมถึงคณะครู และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต้าเหลียน (คณะศิลปกรรมศาสตร์) ได้มาร่วมชมกิจกรรมในงาน และจัดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-จีน ผ่านการร้อง เล่น เต้น และวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมได้มีการร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนานาชาติจีน กับสถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติจีน ในการสอบวัดระดับความรู้ด้านภาษาจีน (HSK) ได้ และกิจกรรมทั้งหมดได้ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ อีกด้วย